ภาษาอังกฤษสำหรับงานตีพิมพ์ผลงานเชิงวิชาการ

ต้องบอกว่า ทักษะการเขียนภาษาอังกฤษที่เรียนมาจากการสอบ IELTs นั้นใช้ไม่ได้เลย ย้ำ!! ไม่ได้เลยกับการเขียนบทความเชิงวิชาการ นอกจากนี้ โลกยังเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ปัจจุบันหลายสำนักพิมพ์เปิดให้สืบค้นฟรี และมีผู้อ่านที่หลากหลายมากขึ้น ดังนั้นงานเขียนเชิงวิชาการในปัจจุบัน จะเน้นให้อ่านง่าย ศัพท์ไม่ต้องซับซ้อนหรือไม่ต้องกลัวซ้ำ (ผิดกับ IELTs ที่ต้องโชว์ความหลากหลายของศัพท์ที่ใช้) และถ้าเป็นไปได้ ทุกอย่างที่ทำมา ควรรวบรัดสรุปให้อยู่ใน Abstract ให้หมด เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้คนอ่านสม้ยนี้ที่เน้นอ่านเร็วและอ่านเยอะ รูปแบบประโยคก็เหมือนกัน เคยถูกสอนมาว่า ให้เขียนเป็น Passive เพราะไม่เน้นที่คนทำ แต่งานตีพิมพ์รุ่นใหม่ คนสอนเค้าบอกว่า ให้พยายามเลี่ยงการเขียน Passive ก็ไม่ได้เน้นที่คนทำเหมือนเดิมแหละ แต่รูปแบบประโยคที่ใช้ ให้เขียนเป็น Active voice ส่วนหลักการเขียน IELTs อีกอย่างที่ทำให้ได้คะแนนดี คือต้องโชว์ความซับซ้อนของประโยค ถ้าเป็นไปได้ ให้เปลี่ยน Verb เป็น Noun หรือการใช้รูปแบบประโยคที่ซับซ้อนเพื่อโชว์ทักษะการใช้ภาษานั้น ก็นำมาใช้กับการตีพิมพ์ผลงานวิชาการไม่ได้เช่นกัน

บทความนี้ ขอรีวิวและแบ่งปันเทคนิคสั้นๆ ที่สำคัญและน่าสนใจที่เราได้มีโอกาสไปนั่งเรียนกับ Hilary Glasman-Deal และ Andrew Northern ที่ Imperial College อยากบอกว่า เป็นคอร์สภาษาอังกฤษสำหรับการเขียนผลงานวิจัยที่ดีมากๆ มากที่สุดทั้งแต่ได้เคยเรียนมา ยกให้เป็นหนึ่งในดวงใจ นี่ว่าจะไปซื้อหนังสือของ Hilary และเอาไปให้เซ็นอยู่ แบบว่าปลื้มจัด ใครสนใจ หาซื้ออ่านได้นะคะ ออกไปเล่มนึง และปลายปีนี้จะมีเล่มใหม่ (เขียน ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2561)




Hilary กับหนังสือเล่มแรก ดีมากๆ มีฉบับแปลเป็นภาษาเกาหลี จีน ญี่ปุ่นและใช้เป็นคู่มือประกอบการเรียน Research Writing ในหลายมหาวิทยาลัย



แต่สำหรับเนื้อหาในบล็อกวันนี้ จะเป็นอะไรย่อๆ จากหนังสือเล่มใหม่ที่กำลังจะวางจำหน่าย ฮิลารี่ใช้เทคนิค Reverse Engineering ในการวิเคราะห์เทคนิคการเขียนของงานตีพิมพ์ เน้น ฉบับที่เขียนโดยเจ้าของภาษา ทำให้เห็นรูปแบบที่ช่วยให้การเขียนบทความเชิงวิชาการเพื่อการตีพิมพ์มีมุมมองที่น่าสนใจ  สรุปสั้นๆ คือ เห็น Pattern ของการเขียน Paper นั่นแหละ  แถมยังช่วยให้เราเข้าใจด้วยว่า ส่วนไหนควรใช้ Tense อะไร เพราะอะไร  หนังสือออกเมื่อไหร่ อย่าลืมซื้อมาอ่านกันนะคะ

และที่หนังสือเล่มใหม่ของฮิลารี่นำเสนอนั้น นอกจากเนื้อหาการวิเคราะห์ Pattern งานเขียนอย่างเข้มข้นที่พวกเราทำตามได้แล้วนั้น ฮิลารี่ยังสกัดคำศัพท์เด็ดๆ รูปแบบประโยคงามๆ มาให้เราไว้ใช้ตามกันอีกด้วย  ถ้าได้นำมาใช้คู่กับคลังศัพท์ของ The University of Manchester แล้ว รับรอง งานเขียนฉลุย

ก่อนอื่น อยากให้ทุกคนที่สนใจทำตามที่ฮิลารี่แนะนำก่อน คือไปหาเปเปอร์ดีๆ ที่เขียนโดยเจ้าของภาษา(คือเขียนโดยอาจารย์ชาวอังกฤษหรืออเมริกัน) มาสักฉบับ  เลือกฉบับที่มี Section ย่อยๆ ครบแบบที่ควรจะเป็น แม้ว่าปัจจุบัน Paper ดีๆ บางฉบับจะไม่ใช้ Pattern ตามนี้แล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทุกคนเห็นความแตกต่างของแต่ละ Section ได้อย่างชัดเจน ทีนี้ ต่อไปจะเขียนรวบ Section ไหนเข้าไว้ด้วยกัน หรือเรียงอะไรก่อน อะไรหลัง ก็ไม่ยากแล้ว

Standard Structure ประกอบด้วย : Abstract, Introduction, materials and methods, results, discussion, and conclusion

สำหรับโครงสร้างงานเขียน ถ้ามองแบบแผนผังง่ายๆ จะเป็นดังรูปข้างล่าง
หมายความว่า งานเขียนที่ดี บท Introduction ควรกล่าวจากสโคปกว้างๆ แล้วค่อยๆ ตะล่อมมาเน้นที่งานวิจัยของเรา นำเสนอวิธีการวิจัย จากนั้น แสดงผล วิเคราะห์และสรุปในลักษณะชี้นำให้เห็นว่า งานวิจัยของเรานั้นสร้างประโยชน์หรือจะนำไปประยุกต์ใช้ด้านใดได้บ้าง


INTRODUCTION

  • มักเอ่ยถึงงานวิจัยในภาพรวม ด้วย Present simple tense เป็น Background Fact ของงานวิจัยก่อน
  • ร่ายยาวมา ว่าอะไรกำลังน่าสนใจ เป็น meeting place คือสิ่งที่ทำให้ทุกคนที่อ่านพูดเรื่องเดียวกันได้
  • คืออะไร // ใช้เพื่ออะไร // ส่งผลดีอย่างไร //
  • แต่แล้ว (ไกด์ด้วยคำว่า However, ...)  ทำไม มันติดอะไร หรือต้องพัฒนาอะไรต่อ เราถึงงอกออกมาเป็นผลงานวิจัยของเราฉบับนี้ 
  • ส่วนแรกเป็นการ Locate the gap หรือการหาช่องว่าง หรือจุดบอดของงานวิจัยเดิม ก่อนที่จะต่อยอดมาเป็นงานวิจัยของเรา เราจะต้องหา Gap ของงานให้เจอ และตรงนี้จะต้องเขียนด้วยความสุภาพมากๆ 
  • บอกจุดประสงค์ของงานวิจัยของเราที่ไป Fulfil the gap (aims / results 
  • ย่อหน้าถัดมา เริ่มเอ่ยถึง  "Core topic" ของงานที่พัฒนาต่อมา มันคืออะไร มีอะไรดี ดีอย่างไร 
  • เริ่มลงทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง 
  • Flamework ของงานของเรา และมันจะตอบโจทย์อะไรได้
  • สามารถใช้สลับกันได้ทั้ง  Past simple, present perfectถ้าเป็นงานวิจัยที่กำลังอยู่ในกระแส ควรใช้  present perfect
  • ถ้าเป็นการเอ่ยถึง aims or assumptions ของงาน ก็ให้ใช้ present or past simple ได้หมด
  • อย่าเลือกคำที่มีความหมายกำกวมเด็ดขาด
    • Resolve มีความหมายไม่เท่ากับ  Solve  เพราะ Solve คือการได้คำตอบแบบ Direct solution // ส่วน Resolve อาจได้คำตอบแบบอ้อมๆ
    • Review (= look at it again) // Revise (look at it again and modify it)
    • 'Implement'มีความหมายเชิง Real action มากกว่า 'Apply'   เป็นต้น
  • ฮิลารี่และแอนดรูให้ลิงค์สำหรับเช็คการใช้งานศัพท์ต่างๆ ลองเข้าไปดู นี่ก็ดีมากๆ http://www.netspeak.org  เป็นเว็บสำหรับเช็ค preposition, ศัพท์ที่นิยมใช้ รวมถึงแกรมม่าที่เหมาะสมกับงานเขียน
  • ขอแนะนำเพิ่มเติม ที่นักเรียนรุ่นพี่แนะนำมา 
    • https://howjsay.com/ ไว้เช็คการออกเสียง
    • http://www.onelook.com/reverse-dictionary.shtml ใช้หาคำ Synnonym ช่วยได้เยอะเลย
    • https://www.oxfordlearnersdictionaries.com/ คนที่เก่ง Writing เขาแนะนำมา ว่าให้เปิด English-English dictionary ให้ชินมือ 

METHODS
  • ในส่วนของ Method สิ่งที่สำคัญที่สุด คือความน่าเชื่อถือของวิธีการที่เราใช้ หากคนอ่าน อ่านแล้วเกิดเสียง "เอ๊ะ!" ในใจนี่ ยุ่งเลย ดังนั้นจึงต้องมีการเขียนอ้างอิงวิธีของคนอื่นด้วย เป็นการ verify เทคนิคของเราไปในตัว
  • ในบทนี้ ฮิลารี่ให้ความสำคัญอย่างมากต่อลำดับการเกิดเหตุการณ์และการใช้ศัพท์แสดงตำแหน่ง จะต้องค่อนข้างเป๊ะ เช่น สองกระบวนการนี้ทำไปพร้อมๆ กัน เกือบจะพร้อมๆ กัน ทำตามกันไป หรือเว้นระยะห่างเท่าไหร่ อะไรทำก่อน ตามด้วยอะไร คั่นกลางด้วยอะไรไหม นานเท่าไหร่ เป๊ะๆๆๆ แบบว่า ต้องเขียนให้คนอื่นทำตามให้ได้ ดังนั้น การใช้บุพบทบ่งบอกเวลาจะเป็นเรื่องสำคัญมาก การเขียน Method นี้ ต้องไม่มีกั๊ก ต้องไม่ทำให้คนอื่นทำตามไม่ได้... อย่ากั๊กเน๊
  • พวก Preposition คำบอกตำแหน่ง ก็สำคัญ ในหนังสือของฮิลารี่มีตัวอย่างให้เยอะมาก จึงเป็นหนังสือที่ควรมีติดบ้านหนึ่งเล่ม
  • เลือกใช้ศัพท์ (แน่นอนฮิลารีพอจะมีให้ในเล่ม) แสดงเวลา ตั้งแต่ก่อนจะเร่ิ่มกระบวนการ 
  • ขณะทำการทดลอง ต้องมีการเตรียมความพร้อมเริื่องใดบ้าง ต้องระวังเรื่องใดบ้าง ควรบอกเหตุผลของการกระทำควบคู่กันไปเสมอ เช่น รินน้ำอย่างช้าๆ ด้วยอัตราเร็ว 10 ml/min เพื่อมิให้น้ำกระฉอก เป็นต้น
  • เขียนด้วย Past simple tense เป็นหลัก เพราะเราได้ทำการทดลองมาแล้ว ถึงมาเล่าให้ฟัง
  • มักต้องมีการนำเสนอภาพปลากรอบ เอ๊ย! ภาพประกอบ เช่น "A schematic representation of the experimental set-up is given in Fig. 1" สังเกต... เขาใช้ Present tense คือเสนอรูปให้ดูงานจัดวิธีการทดลองอยู่ในเปเปอร์ฉบับนี้แหละ เป็นต้น 
  • ข้อแตกต่างจากเดิม (ที่เราเคยเรียนรู้มา) คืองานเขียนเชิงวิชาการ เดิมที จะไม่เน้นผู้กระทำ ทำให้ต้องเขียนเป็น Passive voice ซะส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันไม่แล้วนะจ๊ะ เพราะ Passive นั้นเข้าใจยากกว่า งานสมัยใหม่ต้องเขียนให้เข้าใจง่ายๆ หมายถึงอ่านเร็วๆ ก็เข้าใจได้ ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องแปลงคำกริยาเป็นคำนามซ้อนคำนามให้ปวดหัว อย่าเชียว 
  • เขียนให้เป็นย่อหน้าต่อเนื่องกันไป ไม่ใช่เขียนเป็นลำดับข้อ 
  • เขียนให้ผู้อ่านไม่สามารถตั้งคำถามตามมาได้ เช่น
    • การทดสอบเริ่มจากการเก็บตัวอย่างน้ำผิวดิน (ทำอะไร ทำอย่างไร) จากพื้นที่แถบภาคอีสาน ซึ่งได้แก่จังหวัด นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ ยโสธร และร้อยเอ็ด จังหวัดละ 1 จุด เพื่อนำมาทดสอบหาค่าโซเดียม (เก็บมาเพื่ออะไร) ซึ่งพื้นที่แถบนี้มีความน่าสนใจตรงที่ว่า เป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะเป็นทะเลมาก่อน และมักถูกใช้เป็นแหล่งอ้างอิงของปริมาณการเกิดลูกอ๊อดด้วย [12] ว่าไปนั่น  (ให้ Backgroud fact เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ และเหตุผลว่าทำไมเลือกพื้นที่นี้)
  • ตัวเลข [12] นั้นสำคัญ อย่ามองข้ามไป มันคือ Reference หมายถึง เราอ้างขัอมูลไหน เราต้องบอกที่มาของข้อมูลด้วย เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือหรือการ Verify ข้อมูลไปในตัว 
  • ขึ้นย่อหน้าได้ ไม่ต้องติดกันเป็นแพซะทีเดียว
    • แต่ละบ่อ จะทำการเก็บทั้งหมด 3 ตัวอย่าง บ่อละ 100 มล. ก่อนจะเก็บ น้ำที่อยู่บนผิวหน้าจะถูกปั๊มทิ้งไปก่อนเพื่อมิให้ปนเปื้อน ด้วยเครื่อง XYZ  จนกระทั่งวัดค่า pH ได้คงที่  จากนั้น จึงตักตัวอย่างน้ำ แล้วเก็บในขวดสีชา แล้วจึงปิดอย่างแน่นหนา ไม่ให้หกซักกะหยดนึง ก่อนจะเก็บแช่ไว้ในตู้เย็นที่ 5 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันการปนเปื้อนและการเสื่อมสภาพของอินทรีย์วัตถุในน้ำ (บอกเหตุอีกแล้ว)  
    • เมื่อกลับมาถึงห้องแล็บ (อ่ะนะ ขอเขียนภาษาง่ายๆ แก้อาการง่วงนอน) ตัวอย่างทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนเพื่อส่งไปห้องทดลองสองแห่ง เพื่อให้ทำการวิจัยเปรียบเทียบกัน โดยห้องแล็บที่หนึ่ง ทำการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค A ส่วนห้องแล็บที่สองทำการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค B ซึ่งเป็นเทคนิคทีีผ่านการรับรองด้วยสถาบัน กขคง (เพิ่มความน่าเชื่อถือให้ข้อมูลสุดๆ) เทคนิคนี้จะปิเปตตัวอย่างน้ำออกมาวิเคราะห์ด้วยเครื่อง ICP ซึ่งมี Detection limit ต่ำถึง 0.1 ppm (อ่านแล้วก็ยิ่งน่าเชื่อถือใช่ป่าว)  ตลอดการทดลองที่ห้องแล็บทั้งสองแห่งนั้น ใช้อุปกรณ์ที่ทำจากสแตนเลสสตีลทั้งสิ้น ถึงแม้อาจจะมีการปนเปื้อนของโซเดียมจากภาชนะบรรจุ หรือขวดสีชานั้นบ้างก็ตาม แต่การปนเปื้อนนี้มีปริมาณต่ำมาก จนตัดค่าออกได้ 

  • สรุป... ในการเขียนย่อหน้าส่วน Method นั้น ...
    • ประโยคที่ 1 บอกจุดประสงค์ของการทดลอง เช่น งานนี้จะหาปริมาณโซเดียม
    • ประโยคที่ 2 ปูพื้น เล่า  Background ของงานสั้นๆ พร้อม Validation (คือการเทียบกับ เทคนิคอื่นใน Literature)  คือบอกเหตุผลว่าทำไมเราถึงเลือกวิธีนี้
    • ประโยคที่ 3 เขียนเล่าว่าเราทำอะไรไป ด้วย Past simple เล่าเป็นลำดับเหตุการณ์ตามเวลาที่เกิด และให้ทำตามได้ บอกรายละเอียดเครื่องมือที่ใช้, sources of materials (Method + Carefulness + Justification)  เล่าว่าเราทำอะไร เพราอะไร เพื่อเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือของการทดลองของเรา (ถ้าไม่มี clear reason ไม่เรียกว่ามีการ Justify)  มีการอ้างอิงการทดลอง หรือวิธีการของคนอื่นได้ (อย่าลืมใส่อ้างอิง) สำคัญมากที่ต้องทำให้คนอ่านรู้ว่า ตรงไหนที่เราอ้างมา น่าเชื่อถือแค่ไหน และตรงไหนที่เราทำเอง ดียังไง ตรงนี้ใช้ Present simple ได้เลย
    • ประโยคที่ 4 อธิบายสั้นๆ ว่าเทคนิคที่เราเลือกดีอย่างไร ประโยคเชิงบวกช่วยให้คนอ่านมั่นใจกับเทคนิคที่เราเลือกใช้ 

นอกจากนี้  ควรทำให้งานเขียนโดยรวมดูเป็นเรื่องเล่าด้วย โดยการ...

1. แทรกคำเชื่อม (Linking words) เป็นระยะ พวก On the other hand, moreover, In conjuction with, by means of, ... 

แต่จงหลีกเลี่ยงการใช้ linking word ว่า 'and' เพราะเป็นคำที่เข้าใจได้กำกวม

2. ความยาวของประโยค ไม่ควรยาวมากไป ตัดให้สั้นๆ ประโยคนึงควรมีซัก 15-20 คำก็พอ

3. มี Logic flow

4. ไม่จำเป็นต้องใช้ศัพท์หรูหรา (แต่ก็ต้องใช้ศัพท์วิชาการ) และไม่จำเป็นต้องเปลียนคำศัพท์ให้ดูหลากหลาย ** Try to keep the terminology consistent ** เพื่อไม่ทำให้คนอ่านสะดุด 

5. แต่ก็ไม่ใช้ศัพท์ที่ธรรมดาเกินไป เพราะต้องนึกเสมอว่า เป็นการเขียนงาน  Academic writing เช่น ไม่ใช้คำว่า get แต่ใช้คำว่า obtain, achieve, purchase แทน เป็นต้น

6. พวกคำนิยามต่างๆ หรือวลี ... อย่าพยายามคิดเองให้แตกต่างจากคนอื่น ควรใช้ Google scholar เข้าไปค้นดูว่าคนอื่นใช้ยังไง โดยการพิมพ์วลีในเครื่องหมาย " " เท่านี้ Google ก็จะค้นให้ทั้งวลี ไม่แยกเป็นคำๆ 

7. อย่าเลือกคำที่มีหลายความหมาย หรือความหมายกำกวม อย่าเขียนให้ผู้อ่านเกิดคำถามในใจ

8. Tense ในการเขียน Method  เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นตัวแยก ว่าส่วนไหนคืองานที่เราทำ (past simple) ส่วนไหนเป็น Fact (present simple) 

** ส่วนไหนเป็นงานของเรา กับส่วนไหนเป็นงานของผู้อื่น** ก็สำคัญ ตรงนี้สามารถใช้ Past simple tense and/or passive voice ด้วยกันทั้งคู่ แต่เราต้องเขียนให้กระจ่างว่า ส่วนไหนที่เราเขียนเอง กับส่วนที่เรายกมาอ้างอิง

9. Tense สำคัญอีกเหมือนเดิมในการอธิบายกราฟฟิค หากเราจะบอกว่า ข้อมูลใดอยู่ในกราฟ หรือกราฟนี้ได้มาอย่างไร เช่น All data that were collected then plotted using the MS Excel is presented in Fig. 5  อ่านแล้วงงมั๊ยคะ ฮ่าๆๆ


RESULT


  • ทุกๆ ครั้งที่ขึ้น Section หรือ Subsection ใหม่ จะขึ้นห้วนๆ ไม่ได้ ต้องมี linking sentence or linking paragraph ทำโดย
    • Begin the section/subsection with an overview/general statement หรือ
    • Link back to something in previous section
    • Revisiting the aims / literature / hypothesis / gap
  • เล่า overview ของผลที่ได้ มักเป็นคำเชิงบวก ที่แสดงให้เห็นความสำเร็จของงาน จะสำเร็จมากหรือน้อย ก็เลือกใช้คำให้เหมาะสม
  • ในส่วน Result สิ่งที่เรามีคือ Data เราต้องอธิบายว่า Data นี้ เราต้องการบอกอะไร หมายความว่าอะไร  ถ้ามีกราฟก็ต้องอ่านจุดที่สำคัญของกราฟ (พร้อมตัวเลข) รวมถึง precision and accuracy ของข้อมูล
  • Tense สำคัญอีกแล้ว เพราะจะบอกระดับความน่าเชื่อถือของข้อมูล ว่ามันโชว์แนวโน้ม หรือว่า strong มากจนเป็น Fact  และเรียกว่า ต้องแสดง degree of certainty ด้วย
  • Verb ที่ใช้ ก็มีดีกรีเช่นกัน ต้องเลือกให้ถูกกับสิ่งที่เราจะนำเสนอ แสดงให้ผู้อ่านเห็นว่าเรามั่นใจในข้อมูลเราแค่ไหน แต่โดยมากแล้ว เราจะไม่นำเสนอข้อมูลเราโดยใช้คำที่ strong หรือ มั่นใจเกินไป เพราะหากยังเป็นแค่การทดลอง ย่อมไม่ strong เท่ากับการกลายเป็นทฤษฏีแล้ว และทฤษฎี ก็ยังไม่ Strong เท่าการเป็นกฎ เป็นต้น 
    • prove > confirm > suggest
    • causes > contributes to > is associated with
    • often > rarely
    • probably > possibly 
    • the > a 
    • in many case  > some cases > According to this case
  • ในส่วนของ Result สิ่งที่สำคัญที่สุด คือคำแสดงปริมาณ ต้องระวังศัพท์ที่ใช้ เพราะความหมายของบางคำจำกัดมากๆ เช่น increase (size or quantity)  คืออาจเพิ่มที่มิติใดมิติหนึ่งและมักมีผลเชิง positive แต่ enhance เพิ่มในส่วนไหนก็ได้ และอาจไม่ได้ให้ผลในเชิง positive คือ enhance แล้วแต่ property ด้าน stiffness อาจตกลง เป็นต้น
  • Tense ยังเป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างยิ่ง เพราะมันจะบอกได้ว่า เราค้นพบผลบางอย่าง หรือเราค้นพบความจริงบางอย่าง
  • ดังนั้น ในส่วน Result นี้ นอกจาก tense จะสำคัญแล้ว Adverb ก็สำคัญมากด้วย  เช่น increase แล้ว increase ระดับไหนล่ะ noticeably, markedly, particularly, significantly, ...

  • หลักการเขียนคือ 
    • General statement or linking sentences --> 
    • Show what you did and what you found --> 
    • show data -->
    •  express how data prove or disprove something + validate our data โดยเทียบกับผลการทดลองของคนอื่น --> 
    • เพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูล หรือหาข้อมูลจากแหล่งอื่นมาสนับสนุนงานของเรา  อย่าลืม Key results + happy words 
    • บอกปัญหาที่พบและคำแนะนำได้ 

DISCUSSION

แม้ว่าปัจจุบันจะมีเปเปอร์จำนวนมากที่เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนองานวิจัยโดยการยุบ หรือสลับบทต่างๆ ของงานวิจัย แต่เพื่อปูพื้นงานเขียน ฮิลารี่จะยังแนะนำให้เขียนในลักษณะมีครบทุกบท คือ Introduction + Background / Methods / Results / Discussion / Conclusion / และยังแนะนำให้เขียน Abstract เป็นบทหลังสุด

โดยภาพรวมของการเขียน สิ่งที่ต้องระวังตลอดเวลาคือ แต่ละประโยคที่เขียนต้องมีความหมาย แต่ละประโยคที่เขียนต้องไม่อยู่โดดเดี่ยวเหมือนเป็นเกาะท่ามกลางมหาสมุทร คือมันต้องมีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวก่อนหน้า 

ในส่วนของ Discussion ก็จะคล้ายๆ Result คือต้องมีการเกริ่นให้สอดคล้องกับบทก่อนหน้าเสียก่อน 


และสิ่งที่สำคัญที่สุดใน Discussion ก็คือการเลือกใช้คำที่แสดงความมั่นใจของผล หรือคำแสดงความ strong ของข้อมูลนั่นเอง คำที่ใช้ ต้องไม่ขี้โอ่เกินไป หรือไม่ถ่อมตัวเกินไป และไม่ strong เกินไป หรือ weak เกินไป เรียกว่า เขียนให้เป็น Safety statement ไม่หาเรืองเข้าตัว แต่ก็ไม่อ่อนจนดูหมดความเชื่อถือ
ส่วนลำดับการเขียนคร่าวๆ ก็จะเป็น 
  • Revisiting the aims/ overview / general statement / background facts
  • Revisiting the gap
  • Revisiting your own study
  • Explain results and their implication
  • Results that response to the gap 
  • Mapping and fill the gap (Mapping ได้ทั้งกับ Literature หรือ theory หรือ aims ของเราเอง และนำเสนอได้ทั้งในแง่ผลที่สอดคล้องหรือหักล้าง ดังนั้น หากทำงานวิจัยแล้วได้ผลไม่เป็นไปตามทฤษฎีจึงไม่ใช่ว่าจะเขียน publication ไม่ได้ 
  • Show limitation and give some suggestion 
  • Show application or make contribution
  • Show current and future work ได้ด้วย



CONCLUSION

  • มีสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังให้มากคือ การสรุปผลที่ดี ต้องสุภาพ ไม่พาดพิงหรือโจมตีงานวิจัยคนอื่น
  • การเขียน Conclusion กับ Abstract จริงๆ คล้ายกันมากๆ จนแทบเรียกได้ว่า เป็น paraphrase กันเลยทีเดียว
  • Tense ที่ใช้ เน้น Present or present perfect tense 
  • แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ ใน conclusion มักต้องบอกทิศทางของ Future research ด้วย และอันนี้ ต้องระวังให้ดี 
    • Future research should  ... แปลว่า แนะแนวทางเฉยๆ
    • Future research will ... / is underway ถ้าอ่านเจอแบบนี้ แปลว่า คนเขียนเค้ากำลังทำอยู่ อย่าไปทำซ้ำกับเขา PUT YOUR HANDS OFF! 


ABSTRACT 

โดยรวมคือการนำเสนอ specific information ที่เราค้นพบ ไม่ใช่ general information มักเขียนแบบไม่มีย่อหน้า และความยาวไม่เกิน  200 คำ  ส่วนสไตล์การเขียนก็จะเป็นดังนี้
  • นิยามหรือ Keyword ในงาน เริ่มต้นด้วย Facts or meeting place คืออะไรก็ได้ที่จะทำให้เราและผู้อ่านรู้ว่ากำลังคุยเรื่องเดียวกัน
  • ความสำเร็จของงานที่ผ่านมา (ไม่ว่าจะเป็นงานในกลุ่มวิจัยของเราเอง หรืองานคนอื่น) Key component ว่าใช้อะไร ทำอย่างไร เพื่ออะไร ได้ผลอย่างไร 
  • แต่แล้วติดขัดตรงไหน (อุปสรรคที่พบในงานเก่า )
  • Here, we reported อะไร 
  • ใช้อะไร -- สิ่งที่ใช้น่ะคืออะไร--มีข้อดีอย่างไร ทำไมเราถึงเลือกใช้ -- ใช้อย่างไร (อาจไม่ต้องถ้ายาวไป) -- เกิดอะไรขึ้นเมื่อใช้สิ่งนั้น -- ส่งผลอย่างไร 
  • ซึ่งผลของมันเป็นอย่างไร 
  • พบปัญหาอื่นไหม ต้องพัฒนาต่อด้านไหน
  • ส่งผลกระทบอย่างไรต่องานในอนาคต เพื่อแสดงการต่อยอดโดยใช้งานวิจัยของเรานั่นเอง
  • มี application ในงานของเราพ่วงมาด้วยไหม 


TITLE 
  • ควรไปศึกษาจากงานในฟิลด์เดียวกันว่าเขาตั้งประมาณไหน ความยาวกี่คำ 
  • อย่าตั้งกว้างเกินไปจนไม่น่าสนใจหรือทำให้คนอ่านรู้สึกว่า ไม่มีอะไรใหม่
  • ต้องระวัง Preposition เป็นอย่างมาก 
    • For เป็น prep. ที่ปลอดภัยที่สุด ทำให้สับสนน้อยสุด
    • using ช่วยให้เข้าใจง่ายกว่า with หรือ by เป็นต้น
  • Good title สามารถทำให้คนอ่านจินตนาการถึงสาระที่เราจะให้ได้เลยทีเดียว
  • ควรเขียนให้เหมือนแสดงจุดที่สำคัญที่สุดในงานเราอยู่ในประโยคเดียวนี่แหละ
  • ใช้ Happy words หรือคำที่แสดงว่างานวิจัยเราประสบความสำเร็จลงไปผสมได้
  • หากใช้ a/an นั่นหมายความว่า เราเจออะไรใหม่ๆ หรือนำเสนออะไรใหม่ๆ 



เอาล่ะ .. เมื่อเขียนจบทั้งหมดแล้ว ก็ต้องกลับมาเช็คแกรมม่าอีกครั้ง
1. Determiners ได้แก่พวก a, an, the มีครบและเหมาะสมไหม
2. Subject - verb agreement
3. Reference 
4. synonym
5. Acronym พวกตัวย่อต่างๆ พยายามใช้ตามที่คนอื่นใช้กัน อย่าคิดเอง และเมื่อใช้แล้ว ใช้ให้ตลอดจนจบงานเขียน อย่าใช้บ้าง ไม่ใช้บ้าง 
6. Verb tense
7. Preposition
8. Part of speech บางทีเราก็เผลอๆ ใช้คำนาม ทั้งๆ ที่ควรจะใช้ verb เป็นต้น
9. Passive or active voice หากใช้ passive อย่าลืมอ่านให้เข้าใจ มั่นใจว่าคนอ่านกับเราเข้าใจตรงกัน 
10. พวก Modal verbs ทั้งหลาย (can, could, will, would, shall, should, may, must, might, need to, have to, ought to )ก็ต้องเช็คเช่นกันเพราะทำให้ความหมายที่ต้องการสื่อ และความ Strong ของข้อมูลที่เรานำเสนอผิดเพี้ยนจากที่ต้องการได้
11. Citation ตรวจสอบอ้างอิงอีกครั้ง


ที่เรียนมาคร่าวๆ ก็จะประมาณนี้ ส่ิงที่ได้มาเยอะมากๆ ก็คือคำศัพท์ต่างๆ แต่จำได้ไม่หมดหรอกค่ะ และเอามาเขียนในนี้ก็ไม่ได้เพราะติดลิขสิทธิ์ ยังไงก็ช่วยอุดหนุนฮิลารี่ด้วยนะคะ ถ้าท่านใดมีโอกาสได้เจอตัวจริงและได้เรียนกับฮิลารี่จะรู้ว่าอาจารย์ท่านนี้มีคนมีพลังมากๆ ออกจากคลาสครั้งใด เรานี่อยากกลับมาปั่นเปเปอร์ทุกที เนื้อหาในบล็อกวันนี้ เราตั้งใจเขียนให้เป็นเหมือนบทสรุปของการเรียนของเราเอง เป็น Checklist ก็ว่าได้ และแนะนำหนังสือที่ดีให้เพื่อนๆ ไปในตัว หวังว่าทุกคนอ่านแล้วพอจะมีไอเดียการเขียนเปเปอร์กันนะคะ 



ที่มาข้อมูล 
ชื่อคอร์ส 'Writing a research paper'
Centre of Academic English
Imperial College London



























 

Comments

Popular posts from this blog

รีวิวหมวก New Era Cap

ปัญหา Language bar มีภาษาที่ไม่ได้ตั้งเกินมา หรือลบไม่ได้